CSS Menu Display Css3Menu.com

                                      การแกะสลักผักและผลไม้


      การแกะสลักผักและผลไม้ เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยเลยทีเดียว ซึ่งไม่มีชาติใดสามารถเทียมได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในปัจจุบันนี้เห็นจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปแขนงนี้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปหรือลดน้อยลงไปเรื่อย
      การแกะสลักผักและผลไม้เดิมเป็นวิชาการขั้นสูงของกุลสตรีในรั้วในวัง ต้องฝึกฝนและเรียนรู้จนเกิดความชำนาญบรรพบุรุษาของไทยเราได้มีการแกะสลักกันมานานแล้ว แต่จะเริ่มกันมาตั้งแต่สมัยใดนั้น ไม่มีผู้รู้เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่ชัด จนถึงสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ในรัชสมัยของสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้มีนางสนมคนหนึ่งชื่อ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศขึ้น และในหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึงพิธีต่าง ๆ ไว้ และพิธีหนึ่ง เรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นนักขัตกฤษ์ชักโคมลอย นางนพมาศได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งามประหลาดกว่าโคมของพระสนมทั้งปวง ได้เลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงพระจันทร์ ล้วนแต่พรรณของดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลายแล้วจึงนำเอาผลพฤกษาลดาชาติ มาแกะสลักเป็นระมยุระคณานกวิหคหงส์ให้จับจิกเกสรบุปผาชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุท เป็นระเบียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดส่ง ควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซมเทียนธูปและประทับน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อระโค (กรมศิลปากร, 2531 : 97 – 98) จึงได้มีหลักฐานการแกะสลักมาตั้งแต่สมัยนั้น
     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการประพันธ์ยิ่งนัก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน และแห่ชมผลไม้ได้พรรณนา ชมฝีมือการทำอาหาร การปอกคว้านผลไม้ และประดิษฐ์ประดอยขนมสวยงาม และอร่อยทั้งหลาย ว่าเป็นฝีมืองามเลิศของสตรีชาววังสมัยนั้น พระราชนิพนธ์กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวานตอนหนึ่งว่า 


    น้อยหน่านำเมล็ดออก ปล้อนเปลือกปอกเป็นอัศจรรย์
มือใครไหนจักทัน เทียบเทียมที่ฝีมือนาง 
ผลเงาะไม่งามแงะ มล่อนเมล็ด และเหลือปัญหา
หวนเห็นเช่นรจนา จำเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม (กรมวิชาการ, 2530 : 17)


     และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง สังข์ทอง พระองค์ทรงบรรยายตอนนางจันทร์เทวี แกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราวของนางกับพระสังข์ นอกจากนั้นยังมีปรากฏในวรรณกรรมไทยแทบ ทุกเรื่อง เมื่อเอ่ยถึงตัวนางซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องว่า มีคุณสมบัติของกุลสตรี เพรียบพร้อมด้วยฝีมือการปรุงแต่งประกอบอาหารประดิษฐ์ประดอยให้สวยงามทั้งมีฝีมือในการประดิษฐ์งานช่างทั้งปวง ทำให้ทราบว่า กุลสตรีสมัยนั้นได้รับการฝึกฝนให้พิถีพิถันกับการจัดตกแต่งผัก ผลไม้ และการปรุงแต่งอาหารเป็นพิเศษ จากข้อความนี้น่าจะเป็นที่ยืนยันได้ว่า การแกะสลักผัก ผลไม้ เป็นศิลปะของไทยที่กุลสตรีในสมัยก่อนมีการฝึกหัด เรียนรู้ผู้ใดฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ ก็จะได้รับการยกย่อง
    ปัจจุบันวิชาการช่างฝีมือเหล่านี้ ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษามาจนถึงอุดมศึกษาเป็นลำดับ ประกอบกับรัฐบาลและภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุน จึงมีการอนุรักษ์ศิลปะต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการแกะสลักผลงานประเภทเครื่องจิ้ม จนกระทั่งงานแกะสลักได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องประดิษฐ์ ตกแต่งบนโต๊ะอาหารในการจัดเลี้ยงแขกต่างประเทศ ตามโรงแรมใหญ่ ๆ ภัตตาคาร ตลอดจนร้านอาหาร ก็จะใช้งานศิลปะการแกะสลักเข้าไปผสมผสานเพื่อให้เกิดความสวยงาม หรูหรา และประทับใจแก่แขกในงาน หรือสถานที่นั้น ๆ งานแกะสลักผลไม้ จึงมีส่วนช่วยตกแต่งอาหารได้มาก คงเป็นเช่นนี้ตลอดไป